ทุกครั้งที่มีความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลินออกมามากขึ้นทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อเกร็ง ระบบย่อยถูกรบกวนการดูดซึมและเก็บสะสมสารอาหารลดลง ร่างกายจะรับมือกับความเครียดโดยการหลั่งไขมันและน้ำตาลออกมาเพื่อผลิตพลังงานเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับน้ำตาลและคอเลสเทอรอลในเลือดสูงขึ้น
ขณะเดียวกันจะมีการใช้สารอาหารที่สะสมในร่างกาย ยิ่งเครียดมากเท่าไร สารอาหารที่ถูกสะสมไว้ก็จะถูกดึงมาใช้มากขึ้น และร่างกายจะสูญเสียสารอาหารเพิ่มขึ้นไปกับปัสสาวะ จึงทำให้เรารู้สึกอ่อนเพลียหมดแรง นอนไม่หลับ ซึ่งก็จะทำให้เกิดสภาพเครียดต่อร่างกายเพิ่มขึ้นกลายเป็นวัฏจักรความเครียด ร่างกายจะต่อต้านความเครียดได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับว่าร่างกายได้รับการหล่อเลี้ยงจากสารอาหารเพียงพอหรือไม่ ผู้ที่ได้รับสารอาหารเพียงพอ มีสุขภาพดี ย่อมรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าผู้ที่ร่างกายขาดสารอาหาร
นอกจากนี้ฮอร์โมนซึ่งยับยั้งการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการปกป้องเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่บุกรุกร่างกายจะถูกหลั่งออกมา ทำให้ระบบภูมิต้านทานอ่อนแอลง
อาหารยังมีผลต่อการทำงานของสมอง โดยเปลี่ยนแปลงสารเคมีที่ทำหน้าที่สื่อสารการทำงานของระบบต่างๆของร่างกาย รวมถึงควบคุมความรู้สึกอารมณ์ ความตื่นตัว และการนอนของร่างกาย อาหารที่รับประทานจึงช่วยลดและเพิ่มความเครียดให้กับร่างกายได้ ขึ้นอยู่กับชนิดอาหารที่เราเลือกสิ่งที่สำคัญคือ ควรเลี่ยงอาหารที่สะสมความเครียด และเลือกอาหารที่มีสารอาหารส่งเสริมอารมณ์ที่ดี ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและสะสมอาหารที่จะรับมือกับความเครียด
อาหารธรรมชาติลดความเครียด
อาหารที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เวลาที่มีความเครียดร่างกายจะต้องการสารอาหารประเภทแอนติออกซิแดนท์หรือสารต้านอนุมูลอิสระ (วิตามินซี, อี และเบต้าแคโรทีน) วิตามินบี แมกนีเซียม และสังกะสีเพิ่มขึ้น การมีโภชนาการที่ดีจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารเหล่านี้เพียงพอที่จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง กระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี เม็ดเลือดขาว และเซลล์อื่นๆในระบบภูมิคุ้มกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับคนที่ร่างกายมีภาวะความเครียดสูงจากการเจ็บป่วย เช่น บาดเจ็บ ผู้ป่วยผ่าตัด การเสริมอาหารบางชนิดเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งแพทย์มักจะสั่งให้ผู้ป่วยอยู่แล้ว
คาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี
คาร์โบไฮเดรตเป็นอาหารที่ร่างกายนำไปสร้างสารสื่อสมองที่ชื่อว่า เซโรโทนินเวลาที่ลำดับสารตัวนี้ในสมองลดต่ำลงจะทำให้นอนไม่หลับ ไม่กระฉับกระแฉง ขาดสมาธิ และซึมเศร้า สารเซโรโทนินในสมองสร้างมาจากกรดแอมิโนจำเป็น (จากอาหารโปรตีน) ที่มีชื่อว่า ทริปโตแฟน ในกระบวนการผลิดเซโรโทนินจะต้องใช้วิตามินบี6 ด้วย คาร์โบไฮเดรตที่รับประทานเข้าไปจะกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ซึ่งจะดึงเอากรดแอมิโนตัวอื่นๆที่เป็นคู่แข่งกับทริปโตแฟนในการผ่านข้ามแดนระหว่างเลือดและสมองไปใช้ ทำให้
ทริปโตแฟนแผ่เข้าไปในสมองได้มาก และถูกเปลี่ยนเป็นเซโรโทนินได้มากขึ้น เมื่อระดับเซโรโทนินสูงขึ้นก็จะทำให้เกิดอารมณ์ผ่อนคลาย ส่วนโปรตีนจะช่วยให้เกิดการตื่นตัว ฉะนั้นร่างกายต้องการโปรตีนในปริมาณเล็กน้อยที่จะรักษาสมดุลของสารสื่อสมอง ฉะนั้นอาหารเช้าที่มีโปรตีนเพียงเล็กน้อยร่วมกับอาหารคาร์โปรไฮเดรตไม่ขัดสี จะช่วยให้ร่างกายคลายความเครียด
ส่วนน้ำตาล แป้ง เป็นคาร์โบไฮเดรตขัดสีซึ่งสูญเสียสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แม้จะนำไปสร้างเซโรโทนินได้ แต่สำหลับบางคนอาจทำให้เกิดอาการฉุนเฉียวได้ เซโรโทนินจะช่วยให้หลับง่ายขึ้นในเวลากลางคืนแต่เวลากลางวันเซโรโทนินที่มาจากการรับประทานคาร์โบไฮเดรตขัดสีมากๆ เช่น น้ำตาล โดนัท เค้ก พาย อาจทำให้เกิดอาการอ่อนระโหยโรยแรงหรือหงุดหงิดได้ การกินอาหารโปรตีนร่วมด้วยจะช่วยป้องกันส่วนนี้ได้
วิตามินอี
เป็นสารต้านอะนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันความเครียดที่เกิดจากอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง
วิตามินบี
วิตามินบีรวมช่วยการทำงานของระบบประสาทในการเผาผลาญอาหารคาร์โบไฮเดรตและไขมันเป็นพลังงาน เมื่อร่างกายขาดวิตามินบีจะมีผลให้การทำงานของระบบประสาทผิดปกติ และเพิ่มความเครียดให้กับเซลล์ เช่น เกิดอาการซึมเศร้า หงุดหงิด
วิตามินซี
ระหว่างที่ร่างกายมีความเครียด เจ็บป่วย ต่อมหมวกไตจะมีการใช้วิตามินซีมากขึ้น หากมีความเครียดเรื้อรังจะทำให้ระดับวิตามินซีในร่างกายต่ำลง ร่างกายจึงต้องการวิตามินซีสูงขึ้น
นอกจากนี้ระดับวิตามินซีในเลือดต่ำยังพบในผู้ที่เกิดอาการหัวใจวายการได้รับวิตามินซีอย่างเพียงพอในระยะนี้จึงอาจจะช่วยลดอันตรายที่มีผลมาจากฮอร์โมนความเครียด เช่น ฮอร์โมนอะดรีนาลีน จะช่วยให้ร่างกายรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น นอกจากนี้วิตามินซียังช่วยเพิ่มภูมิต้านทานและความเสี่ยงการติดเชื้อด้วย
อาหารที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ ส้ม ฝรั่ง สตรอว์เบอร์รี่ กะหล่ำปลี พริกหวาน คะน้า บรอกโคลี ผักโขม
แมกนีเซี่ยม
ขณะที่ร่างกายมีความเครียด ร่างกายจะสูญเสียแมคนีเซี่ยมและแร่ธาตุอื่นๆไปกับปัสสาวะมากกว่าปกติ ผู้ที่เจ็บป่วยมีความเครียดทั้งกายและใจมักมีระดับแมกนีเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวช้า
คนที่มีบุคลิกภาพชนิดเอมักจะเครียดเป็นนิสัย พบว่าคนพวกนี้มีระดับแมกนีเซี่ยมต่ำลง มีฮอร์โมความเครียดสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีบุคลิกชนิดบี
อาหารที่มีแมกนีเซียมสูง ได้แก่ เต้าหู้ เมล็ดฟักทอง เมล็ดพืชไม่ขัดสีถั่วเปลือกแข็งต่างๆ
สังกะสี
ในภาวะเจ็บป่วยซึ่งมีสภาวะเครียดทางกาย ร่างกายมีระดับสังกะสีในเลือดต่ำลง ซึ่งทำให้ฟื้นตัวช้า ติดเชื้อเป็นแผลเรื้อรัง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ นอกจากนี้ผู้ที่ออกกำลังกายหนักเสมอๆ เช่น นักกีฬา ร่างกายจะเกิดสภาวะเครียดได้ ทำให้สูญเสียสังกะสีไปกับปัสสาวะมากขึ้น
อาหารที่มีสังกะสีสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆโดยเฉพาะอาหารทะเล แป้ง และถั่วต่างๆ
แหล่งที่มา : หนังสืออาหารบำบัดโรคกับ AIA หน้าที่ 71-74
วันที่ 9 ธันวาคม 2554 |